image-cover

คำศัพท์เลือกตั้งที่น่าสนใจ

image-content

คำศัพท์เลือกตั้งที่น่าสนใจ (1)

ปาร์ตี้ลิสต์ (Party-list)
เป็นระบบการเลือกตั้งที่ผู้ออกเสียงสามารถเลือกพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งแต่ละพรรคจะมีการทำบัญชีรายชื่อแคนดิเดต ส.ส. ไว้ และจะนำคะแนนที่พรรคนั้นได้มาคำนวณจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคที่จะได้เข้าสู่สภา

แคนดิเดต
ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งทางการเมือง เช่น แคนดิเดตนายก

บัตรเขย่ง
บัตรที่ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งมารับไปแล้ว แต่ไม่นำไปลงคะแนน โดยอาจเกิดจากเหตุกะทันหันต่าง ๆ ทำให้ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิกับตัวเลขบัตรที่ถูกใช้ไปไม่ตรงกัน

กาสองใบ/เลือกคนที่รักเลือกพรรคที่ชอบ
ในการเลือกตั้งต้องกาบัตรสองใบ ได้แก่ 1) เลือกคนที่รัก คือ เลือกผู้สมัคร ส.ส. หนึ่งคนสำหรับเขตของตัวเอง และ 2) เลือกพรรคที่ชอบ คือ เลือกพรรคการเมืองที่ตัวเองต้องการ ซึ่งจะเป็นการตัดสินจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคนั้น ๆ ที่จะได้เข้าสู่สภา

image-content

คำศัพท์เลือกตั้งที่น่าสนใจ (2)

แลนด์สไลด์
มาจากคำว่า Landslide ที่แปลว่าแผ่นดินถล่ม หมายถึงการชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย หรือการชนะด้วยคะแนนเสียงเกินครึ่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยพรรคตัวเองพรรคเดียว

สว. 250
บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้มี ‘วุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล 250 คน’ มีอายุ 5 ปี นับจากวันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ซึ่งเป็นการแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอ

ส.ว. 250 คนนี้ มีอำนาจในการออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี และยังเหลือวาระการดำรงตำแหน่งอยู่ ทำให้สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 นี้

แคนดิเดตนายก
ตัวแทนที่แต่ละพรรคเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยจะต้องมีคุณสมบัติตามมาตราที่ 160 ของรัฐธรรมนูญปี 2560

นายกฯ คนนอก
ในอดีตนายกรัฐมนตรีต้องมีที่มาจากการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ก่อน เพื่อสะท้อนเสียงของประชาชนและแสดงให้เห็นถึงความยึดโยงกับประชาชนตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ในที่นี้ นายกฯ คนนอกจึงหมายถึง นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือก็คือไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภานั่นเอง แต่รัฐธรรมนูญ 2560 อนุญาตให้พรรคการเมืองเสนอบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. เอาไว้ก่อนการเลือกตั้งได้ ปัจจุบันจึงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีควรจะต้องมีที่มาจาก ส.ส. หรือไม่

image-content

คำศัพท์เลือกตั้งที่น่าสนใจ (3)

การเมืองสองขั้ว
การเมืองที่แบ่งออกเป็น 2 ฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจน ซึ่งอาจมีผลให้ไม่สามารถประนีประนอมหรือตกลงร่วมมือกันได้

3 ป.
ประกอบไปด้วย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (บิ๊กป้อม) พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา (บิ๊กป๊อก) และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (บิ๊กตู่) เรียงตามลำดับอาวุโส เป็นกลุ่มทหารที่ขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองหลังการทำรัฐประหารในปี 2557

นิวโหวตเตอร์
ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหน้าใหม่ คือผู้ที่มีอายุครบ 18 ปีเมื่อถึงวันเลือกตั้ง และมีสิทธิออกเสียงตามกฎหมายเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว

สวิงโหวตเตอร์
ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ไม่ได้ยึดมั่นศรัทธาในนักการเมืองคนใดคนหนึ่งหรือพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นพิเศษ มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจไปกาเบอร์ใดก็ได้ตลอดเวลา

image-content

คำศัพท์เลือกตั้งที่น่าสนใจ (4)

FPTP
ย่อมาจาก first past the post คือระบบการเลือกตั้งที่ใช้ในการเลือกตั้งแบบเขต ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละเขตชนะเลือกตั้ง

เสียงตกน้ำ
ในระบบ FPTP จะมีผู้ชนะเพียงแค่คนเดียวต่อเขตเลือกตั้ง เสียงของผู้ที่ได้คะแนนลำดับถัด ๆ มาจะไม่ได้รับการพิจารณาเลย จึงเรียกเสียงของผู้สนับสนุนของนักการเมืองที่ได้อันดับรองลงมาว่า เสียงตกน้ำ เช่น ถ้าผู้สมัครจากพรรคแอปเปิลชนะเลือกตั้ง เสียงของผู้สนับสนุนพรรคมะละ พรรคกล้วย และพรรคส้มจะตกน้ำไปเลย

ตัดคะแนน
หมายถึง การที่ประชาชนลงคะแนนให้พรรคการเมืองหลายพรรคในขั้วการเมืองเดียวกัน จนเสียงกระจัดกระจายและแพ้พรรคฝั่งตรงข้ามในที่สุด อย่างนี้ เรียกว่าตัดคะแนนกันเอง

เช่น พรรคมะนาว และพรรคมะม่วง เป็นพรรคฝั่งประชาธิปไตย มีผู้สนับสนุนรวมกัน 1400 คน พรรคชะเอม และพรรคชะอม เป็นฝั่งเผด็จการ มีผู้สนับสนุนรวมกัน 1000 คน พรรคมะนาวได้ 800 เสียง พรรคมะม่วงได้ 600 เสียง พรรคชะเอมได้ 900 เสียง พรรคชะอมได้ 100 เสียง

พรรคชะเอม จากฝั่งเผด็จการจะชนะเลือกตั้ง เพราะได้คะแนนสูงสุด ทั้ง ๆ ที่พรรคมะนาว และพรรคมะม่วง จากฝั่งประชาธิปไตยมีผู้สนับสนุนรวมกันมากกว่า อย่างนี้ เรียกว่า พรรคมะนาว และพรรคมะม่วงตัดคะแนนกันเอง

image-content

คำศัพท์เลือกตั้งที่น่าสนใจ (5)

Strategic vote
หมายถึง การโหวตอย่างมียุทธศาสตร์ ซึ่งจะใช้เฉพาะกับบัตรม่วง ที่ใช้เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตเท่านั้น คือ การเทคะแนนเสียงไปให้พรรคฝั่งประชาธิปไตยที่มีโอกาสชนะเลือกตั้งมากที่สุด เพื่อไม่ให้คะแนนเสียงตัดกันเอง และไม่ให้เสียงของเราตกน้ำ

การโหวตแบบยุทธศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเทคะแนนให้พรรคใดพรรคหนึ่งในทุก ๆ เขตเหมือนกัน แต่ต้องเช็คจากผลการเลือกตั้งตอนปี 62 ผลการเลือกตั้งท้องถิ่น และโพลที่ออกมา เพื่อให้เสียงของฝั่งประชาธิปไตยรวมกัน ชนะฝั่งเผด็จการ และได้ ส.ส. มาใช้อำนาจรัฐในการเปลี่ยนกฎ กติกา แก้ไขรัฐธรรมนูญให้กลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสากล เพื่อเริ่มก้าวแรกของการฟื้นฟูประชาธิปไตยไทย

ทั้งนี้ การเลือกเพื่อแสดงอุดมการณ์ และแสดงออกถึงความหวังความฝัน สามารถโหวตในบัตรเขียว เลือก ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ได้ เพราะเสียงในบัตรเขียวปาร์ตี้ลิสต์จะไม่มีทางตกน้ำ